17. 06. 15
Last Updated: 02 August 2017

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จัดพิธีไหว้ครูประจำปีการศึกษา 2560 ตามแบบฉบับดั้งเดิม เมื่อครั้งให้กำเนิดพิธีไหว้ครูครั้งแรกในประเทศไทย

                ดร.ปรเมษฐ์ โมลี ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นประธานในพิธีไหว้ครูประจำปีการศึกษา 2560 โดยมีคณะครู และผู้ทรงคุณวุฒิของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ อาคารหอประชุมโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

                ตามปกติในเดือนมิถุนายนหลังเปิดเทอมโรงเรียนต่าง ๆ จะจัดพิธีไหว้ครูในวันพฤหัสบดี อันถือว่าเป็นวันครู เพราะเทพพฤหัสบดี คือครูของเทพทั้งปวง ฉะนั้นวันนี้จึงเหมาะสำหรับกระทำพิธีไหว้ครู เพื่อให้นักเรียนฝากตัวขอเป็นศิษย์ แก่ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ในประเทศไทยมีพิธีไหว้ครูมายาวนานแล้ว แต่ขาดช่วงไปและขาดแบบแผนที่ชัดเจน จวบจน ฯพณฯ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ฟื้นฟูประเพณีไหว้ครูขึ้น และกระทำเป็นพิธีใหญ่ โดยพยายามให้งดงามเพื่อประทับตาประทับใจ โดยทำเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ในวันพฤหัสบดี ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยครั้งแรกใช้ดอกไม้สีขาวล้วนสำหรับบูชาครู  พานไหว้ครูจะมีเพียงแค่พานเดียวสำหรับตัวแทนนักเรียนหญิงเป็นผู้ถือ ส่วนนักเรียนชายจะถือเพียงแค่ธูปเทียนเท่านั้น จนในที่สุดพิธีไหว้ครูจึงได้นิยมสืบทอดแพร่หลายไปทั่วประเทศจวบกระทั้งถึงในปัจจุบัน

                สำหรับคำไหว้ครูแต่เดิมนั้น ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ภายหลังคือกระทรวงศึกษาธิการ) บิดาของ ฯพณฯ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

                ต่อมาจึงได้มีการประพันธ์คำไหว้ครูขึ้นมาใหม่นั่นคือบทที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ภริยา ฯพณฯ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล โดยใช้เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ฉะนั้นจึงนับได้ว่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นต้นแบบของประเพณีไหว้ครูในประเทศไทยในปัจจุบัน 

                ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้เคยบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่านว่า "ในระหว่างที่สามีฉันเป็นอธิบดีนั้น นายประยูร ภมรมนตรีเป็นรัฐมนตรีช่วยศึกษา จอมพลแปลกเป็นรัฐมนตรีว่าการ นายประยูรไม่ชอบคำไหว้ครูของนักเรียน ซึ่งใช้มาหลายสิบปีแล้ว หาว่าไม่ทันสมัย มีคำที่เป็นคำแสลงอยู่ในบทและยาวเกินไป ขอให้อธิบดีให้คนแต่งให้ใหม่ อธิบดีขอให้อาจารย์ภาษาไทยในโรงเรียนเตรียมแต่ง แต่เธอไม่ชอบใจ จึงมาวานให้ฉันช่วย ขณะนั้นฉันเพิ่งอ่านและเขียนหนังสือได้บ้างเล็กน้อยจึงแต่งว่า

                ......ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ผู้กอร์ปเกิดประโยชน์ศึกษา ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน ข้าขอเคารพอภิวันทน์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาได้เกิดแตกฉาน ศึกษาสำเร็จทุหประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี โดยให้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แต่ชาติและประเทศไทยเทอญ....... 

                ฉันสั่งสามีไม่ให้บอกนายประยูรว่าฉันเป็นคนแต่งให้ นายประยูรในฐานะรัฐมนตรีบันทึกไว้ว่า คำไหว้ครูนี้ใช้ได้ดี ขอขอบคุณผู้แต่งที่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด"

                ในปีนี้ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จะครบรอบ 80 ปี ฉะนั้น ทางคณะผู้จัดงานพิธีไหว้ครูจึงมีนโยบายในการจัดงาน ที่เน้นการนำรูปของพิธีไหว้ครูแบบดังเดิมมาใช้ให้คล้ายกับสมัยที่ ฯพณฯ ศ.มล.ปิ่น มาลากุล ริเริ่มขึ้น


ประวัติความเป็นมาพิธีไหว้ครู

พิธีไหว้ครูในประเทศไทยมีมายาวนานแล้ว แต่ขาดช่วงไปบ้างและขาดแบบแผนที่ชัดเจน

ศาสตราจารย์พิเศษหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาท่านแรก ได้บันทึกถึงประวัติประเพณีการไหว้ครูไว้ สรุปได้ความว่า ฯพณฯ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้ฟื้นฟูประเพณีไหว้ครูขึ้น กระทำเป็นพิธีใหญ่ พยายามให้งดงามเพื่อประทับตาประทับใจ จนในที่สุดได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ โดยทำเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ในวันพฤหัสบดี (วันพฤหัสบดีเป็นวันครู เทพพฤหัสบดี คือครูของเทพทั้งปวง) ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยครั้งแรกใช้ดอกไม้ขาวล้วนสำหรับที่บูชา

ประเพณีไหว้ครูในโรงเรียนอย่างที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันจึงเกิดขึ้นที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นที่แรก

คำไหว้ครูแต่เดิมนั้น ประพันธ์โดยเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ภายหลังคือกระทรวงศึกษาธิการ) บิดาของ ฯพณฯ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

ต่อมาจึงได้มีการประพันธ์คำไหว้ครูขึ้นมาใหม่ และบทที่ใช้กันในปัจจุบันนั้น ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ภริยา ฯพณฯ ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และใช้ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นแห่งแรก โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึงเป็นต้นแบบของประเพณีไหว้ครูในประเทศไทย

อนึ่ง ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา ได้บันทึกถึงเรื่องนี้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่าน ดังนี้

"ในระหว่างที่สามีฉันเป็นอธิบดีนั้น นายประยูร ภมรมนตรีเป็นรัฐมนตรีช่วยศึกษา จอมพลแปลกเป็นรัฐมนตรีว่าการ นายประยูรไม่ชอบคำไหว้ครูของนักเรียน ซึ่งใช้มาหลายสิบปีแล้ว หาว่าไม่ทันสมัย มีคำที่เป็นคำแสลงอยู่ในบทและยาวเกินไป ขอให้อธิบดีให้คนแต่งให้ใหม่ อธิบดีขอให้อาจารย์ภาษาไทยในโรงเรียนเตรียมแต่ง แต่เธอไม่ชอบใจ จึงมาวานให้ฉันช่วย ขณะนั้นฉันเพิ่งอ่านและเขียนหนังสือได้บ้างเล็กน้อยจึงแต่งว่า

ข้าขอประณตน้อมสักการ บูรพคณาจารย์ผู้กอร์ปเกิดประโยชน์ศึกษา ทั้งท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน ข้าขอเคารพอภิวันทน์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาได้เกิดแตกฉาน ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี โดยให้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แต่ชาติและประเทศไทยเทอญ

ฉันสั่งสามีไม่ให้บอกนายประยูรว่าฉันเป็นคนแต่งให้ นายประยูรในฐานะรัฐมนตรีบันทึกไว้ว่า 'คำไหว้ครูนี้ใช้ได้ดี ขอขอบคุณผู้แต่งที่ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด' "

คัดลอกจากหนังสือ เรื่องของคนห้าแผ่นดิน ประพันธ์โดย ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา